Saturday, March 04, 2017

ความทรงจำ เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวกลับมา (๓๗.)

บันทึกคลิ๊ปเป็นหลักฐาน
ในตอนที่จำได้ เหมือน Fan Day เลย


[เมื่อสมองถูกกระตุ้น]
เชื่อว่า
หากสมองได้รับการกระตุ้น ก็จะทำงานได้ดี
และทานข้าวได้ จำเรื่องราวได้ถูกต้อง
ครั้งหนึ่ง จะพาไปหาหมอ คุณแม่ก็ตื่นเต้น
เช้านั้น คุณแม่คายข้าวแค่คำแรก
จากนั้นก็เคี้ยวและกลืนได้ปกติ
หากมีเหตุการณ์กระตุ้นสมอง
ไม่ว่าจะเป็น ความดีใจ ความโกรธ ความตกใจ ความหวัง
สรุปว่าสมองที่ได้รับการกระตุ้น ในระดับที่มากพอ
ครั้งหนึ่ง ผลการกระตุ้นทำให้คุณแม่จำ
ว่า ผู้ที่ดูแลคุณแม่อยู่ คือ ลูกชายคนเดียว
และไม่มีลูกตัวเล็กที่พร่ำเรียกหาว่า หายไปไหน
จะไปถามหาลูกตัวเล็ก ๆ จากใครต่อใคร
แสดงว่า สมอง ที่ฝ่อนั้น
ความจำบางส่วน ที่คิดว่าหายไปแล้ว ไม่ได้หายไปถาวร
แค่หลงลืม และกลับมาทำงานได้อีก ในบางครั้ง
การลืมว่าผมคือ ลูกชาย ยังไม่ถาวร
หลังจำได้ ผมก็ถามย้ำเช้าเย็น
นี่ผ่านมา 2 วัน คุณแม่ยังจำได้ว่าผม คือ ลูกชาย
พอจำได้ ผมก็บันทึกคลิ๊ปวีดีโอ (Clip)
ให้ท่านพูดว่า ผมลูกใคร และเขียนลงกระดาษ
ด้วยลายมือของท่าน คราวหน้าลืมอีก
ผมก็จะหยิบมาเปิดให้ดูอีกครั้ง
บันทึกเป็นหลักฐานแบบในหนังเรื่อง Fan Day
การทำงานของสมองไม่ค่อยแน่นอน
บางวันง่วงนอน หลับเยอะ
บางวันสมองตื่นตัว ไม่ยอมนอนกลางวัน
คิดนู่นนี่เยอะไปหมด วันนี้ทานข้าวเช้าเสร็จก็นอนพักแล้ว

[เรื่องที่ไม่น่าลืม]
มนุษย์เรา มีเรื่องมากมาย
เรื่องมากมายที่ไม่น่าลืม ก็มีเยอะ
เช่น ลืมว่าผมเป็นลูก แต่ท่านก็ลืม
ผลการลืมเรื่องนี้
ทำให้ลืมว่าผมแต่งงาน มีลูก และท่านก็มีหลาน
การพูดถึงหลาน
ท่านก็คิดว่าเป็นลูกหลานของคนอื่น
เพราะลูกของท่านยังตัวเล็ก
บางครั้งไปพบน้องของคุณแม่ ผมก็จะยกมือไหว้ทุกครั้ง
ระยะหลัง
ท่านก็เหมือนจะลืมว่าน้าของผม คือ น้องของท่าน
ยกมือไหว้ตามผมทุกครั้ง แปลกใจกันไปทุกทีเช่นกัน
อีกเรื่องที่ท่านไม่ยอมรับ
คือ คุณยาย หรือแม่ของท่าน เสียไปแล้ว
และคุณพ่อของผม เสียไปแล้วเช่นกัน
แต่ท่านฝังใจว่า คุณยายไปบ้านเกิด เดี๋ยวก็กลับมา
คุณพ่อไปต่างประเทศ ยังไม่กลับ
แม้ผมจะหยิบอัลบั้มงานศพให้ดูท่านก็ไม่เชื่อ
บอกว่าเข้าใจผิดกันหมด
ที่ต้องพยายามอธิบาย เพราะท่านพยายามจะไปหา
ถามผมว่า จำทางไป วังกะพี้ได้ไหม อยากไปตามหายาย

[ดูหนังเรื่องความทรงจำ]
มีภาพยนตร์เรื่อง inside out กับ พรจากฟ้า
เล่าเรื่องการควบคุม และปัญหาความจำจากโรคอัลไซเมอร์
เห็นแล้วก็เหมือนเรื่องของตนเอง ดูหนังแล้วย้อนดูตน
แต่พอคุณแม่มีปัญหาจากโรคอัลไซเมอร์ บวกพาร์กินสัน
รับรู้เลยว่ามีรายละเอียดมากมาย
กว่าที่เห็นในภาพยนตร์
ความทรงจำมีเรื่องของ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
พักนี้พยายามพูดคุยกับคุณแม่ ว่า
สิ่งที่อยู่ในกะละมังที่เตรียมไว้คายอาหาร คือ อดีต
สิ่งที่อยู่ในปาก คือ ปัจจุบัน ต้องกลืนลงไปให้ได้
สิ่งที่อยู่ในจาน หรือของหวานหลังอาหาร คือ อนาคต
จะเตรียมไว้ แต่ไม่ให้เห็นก่อนทานข้าว นำมาทีละรายการ
คุณแม่มักจะติอาหารว่า
เค็มไป เปรี้ยวไป เผ็ดไป หวานไป จืดไป
แต่ผลของการติ คือ กลืนไม่ลง
ปัญหานี้เกิดบ่อยในช่วงเช้า
สิ่งที่ทานได้มักเป็นของหวาน แต่บางรายการก็คาย
ที่คาย เช่น เผือกกวนบ่นว่าเหนียว
บวชชีกล้วยให้ไป 4 ชิ้น ก็กลืนได้ 2 ชิ้น

ปกติจะไม่ปลุกท่าน ยกเว้นท่านขอตื่นเองตั้งแต่เจ็ดโมง
ระยะหลังจะนอนพักนาน ๆ
ให้สมองพักผ่อน ก็มักจะเริ่มทานข้าว 9 โมงกว่า
ปล่อยให้พัก คิดว่าจะมีสติดีขึ้นเมื่อตื่น ก็ยังมีปัญหากลืนอยู่ดี
ก็ต้องปรับรายการอาหารกัน แบบมื้อต่อมื้อ
พูดคุยด้วย แบบคำต่อคำ ลุ่นว่ากลืนได้ไหม
ปกติคำแรกจะกลืนไม่ลง ส่วนคำต่อไปก็ต้องลุ้น

Think different