Saturday, March 04, 2017

ความทรงจำ เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวกลับมา (๓๗.)

บันทึกคลิ๊ปเป็นหลักฐาน
ในตอนที่จำได้ เหมือน Fan Day เลย


[เมื่อสมองถูกกระตุ้น]
เชื่อว่า
หากสมองได้รับการกระตุ้น ก็จะทำงานได้ดี
และทานข้าวได้ จำเรื่องราวได้ถูกต้อง
ครั้งหนึ่ง จะพาไปหาหมอ คุณแม่ก็ตื่นเต้น
เช้านั้น คุณแม่คายข้าวแค่คำแรก
จากนั้นก็เคี้ยวและกลืนได้ปกติ
หากมีเหตุการณ์กระตุ้นสมอง
ไม่ว่าจะเป็น ความดีใจ ความโกรธ ความตกใจ ความหวัง
สรุปว่าสมองที่ได้รับการกระตุ้น ในระดับที่มากพอ
ครั้งหนึ่ง ผลการกระตุ้นทำให้คุณแม่จำ
ว่า ผู้ที่ดูแลคุณแม่อยู่ คือ ลูกชายคนเดียว
และไม่มีลูกตัวเล็กที่พร่ำเรียกหาว่า หายไปไหน
จะไปถามหาลูกตัวเล็ก ๆ จากใครต่อใคร
แสดงว่า สมอง ที่ฝ่อนั้น
ความจำบางส่วน ที่คิดว่าหายไปแล้ว ไม่ได้หายไปถาวร
แค่หลงลืม และกลับมาทำงานได้อีก ในบางครั้ง
การลืมว่าผมคือ ลูกชาย ยังไม่ถาวร
หลังจำได้ ผมก็ถามย้ำเช้าเย็น
นี่ผ่านมา 2 วัน คุณแม่ยังจำได้ว่าผม คือ ลูกชาย
พอจำได้ ผมก็บันทึกคลิ๊ปวีดีโอ (Clip)
ให้ท่านพูดว่า ผมลูกใคร และเขียนลงกระดาษ
ด้วยลายมือของท่าน คราวหน้าลืมอีก
ผมก็จะหยิบมาเปิดให้ดูอีกครั้ง
บันทึกเป็นหลักฐานแบบในหนังเรื่อง Fan Day
การทำงานของสมองไม่ค่อยแน่นอน
บางวันง่วงนอน หลับเยอะ
บางวันสมองตื่นตัว ไม่ยอมนอนกลางวัน
คิดนู่นนี่เยอะไปหมด วันนี้ทานข้าวเช้าเสร็จก็นอนพักแล้ว

[เรื่องที่ไม่น่าลืม]
มนุษย์เรา มีเรื่องมากมาย
เรื่องมากมายที่ไม่น่าลืม ก็มีเยอะ
เช่น ลืมว่าผมเป็นลูก แต่ท่านก็ลืม
ผลการลืมเรื่องนี้
ทำให้ลืมว่าผมแต่งงาน มีลูก และท่านก็มีหลาน
การพูดถึงหลาน
ท่านก็คิดว่าเป็นลูกหลานของคนอื่น
เพราะลูกของท่านยังตัวเล็ก
บางครั้งไปพบน้องของคุณแม่ ผมก็จะยกมือไหว้ทุกครั้ง
ระยะหลัง
ท่านก็เหมือนจะลืมว่าน้าของผม คือ น้องของท่าน
ยกมือไหว้ตามผมทุกครั้ง แปลกใจกันไปทุกทีเช่นกัน
อีกเรื่องที่ท่านไม่ยอมรับ
คือ คุณยาย หรือแม่ของท่าน เสียไปแล้ว
และคุณพ่อของผม เสียไปแล้วเช่นกัน
แต่ท่านฝังใจว่า คุณยายไปบ้านเกิด เดี๋ยวก็กลับมา
คุณพ่อไปต่างประเทศ ยังไม่กลับ
แม้ผมจะหยิบอัลบั้มงานศพให้ดูท่านก็ไม่เชื่อ
บอกว่าเข้าใจผิดกันหมด
ที่ต้องพยายามอธิบาย เพราะท่านพยายามจะไปหา
ถามผมว่า จำทางไป วังกะพี้ได้ไหม อยากไปตามหายาย

[ดูหนังเรื่องความทรงจำ]
มีภาพยนตร์เรื่อง inside out กับ พรจากฟ้า
เล่าเรื่องการควบคุม และปัญหาความจำจากโรคอัลไซเมอร์
เห็นแล้วก็เหมือนเรื่องของตนเอง ดูหนังแล้วย้อนดูตน
แต่พอคุณแม่มีปัญหาจากโรคอัลไซเมอร์ บวกพาร์กินสัน
รับรู้เลยว่ามีรายละเอียดมากมาย
กว่าที่เห็นในภาพยนตร์
ความทรงจำมีเรื่องของ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต
พักนี้พยายามพูดคุยกับคุณแม่ ว่า
สิ่งที่อยู่ในกะละมังที่เตรียมไว้คายอาหาร คือ อดีต
สิ่งที่อยู่ในปาก คือ ปัจจุบัน ต้องกลืนลงไปให้ได้
สิ่งที่อยู่ในจาน หรือของหวานหลังอาหาร คือ อนาคต
จะเตรียมไว้ แต่ไม่ให้เห็นก่อนทานข้าว นำมาทีละรายการ
คุณแม่มักจะติอาหารว่า
เค็มไป เปรี้ยวไป เผ็ดไป หวานไป จืดไป
แต่ผลของการติ คือ กลืนไม่ลง
ปัญหานี้เกิดบ่อยในช่วงเช้า
สิ่งที่ทานได้มักเป็นของหวาน แต่บางรายการก็คาย
ที่คาย เช่น เผือกกวนบ่นว่าเหนียว
บวชชีกล้วยให้ไป 4 ชิ้น ก็กลืนได้ 2 ชิ้น

ปกติจะไม่ปลุกท่าน ยกเว้นท่านขอตื่นเองตั้งแต่เจ็ดโมง
ระยะหลังจะนอนพักนาน ๆ
ให้สมองพักผ่อน ก็มักจะเริ่มทานข้าว 9 โมงกว่า
ปล่อยให้พัก คิดว่าจะมีสติดีขึ้นเมื่อตื่น ก็ยังมีปัญหากลืนอยู่ดี
ก็ต้องปรับรายการอาหารกัน แบบมื้อต่อมื้อ
พูดคุยด้วย แบบคำต่อคำ ลุ่นว่ากลืนได้ไหม
ปกติคำแรกจะกลืนไม่ลง ส่วนคำต่อไปก็ต้องลุ้น

Wednesday, February 22, 2017

มองอาการทางจิตของคุณแม่ ทั้ง 10 อาการ (๓๔.)


ทั้งพฤติกรรม และอาการทางจิต ก่อนดูของคุณแม่
ก็ดูของผมก่อนเลย ว่าปกติดีอยู่รึเปล่า



มองกาย มองจิต มองให้ได้วันละ 30 นาที
เค้าว่าจะดี




[พฤติกรรม และอาการทางจิต]
ทบทวนวรรณกรรมกันหน่อย
หาข้อมูลเพื่อดูแลคุณแม่ พบหัวข้อ
"ปัญหาพฤติกรรมและอาการทางจิตที่พบได้บ่อย ๆ"
เรียบเรียงโดย Thammanard Charernboon
มีดังต่อไปนี้*
1. อาการหลงผิด (delusion) พบได้  30-40 %
2. อาการหูแว่วหรือประสาทหลอน (auditory hallucination and visual hallucination) พบได้ 20-30 %
3. ภาวะซึมเศร้า (depression) พบได้  40-50 %
4. อาการวิตกกังวล (anxiety) พบได้ 40 %
5. อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว (apathy) พบได้ 70 %
6. พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ (disinhibition) พบได้30-40 %
7. อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย (irritable) พบได้ 40%
8. พฤติกรรมทำอะไรแปลก ๆ (aberrant motor behavior) พบได้ 30-40 %
9. ปัญหาด้านการนอน (sleep problem) พบได้ 30-50 %
10. ปัญหาด้านการกิน (Appetite)  พบได้ประมาณ 40-50%
http://thammanard.blogspot.com/2014/07/bpsd.html

[วิเคราะห์ภาวะที่เกิดกับคุณแม่]
พิจารณาตามหัวข้อข้างต้น
1. อาการหลงผิด
พบบ่อย
เช่น มองลายมือตนเอง แล้วบอกว่าจะถูกหวยรางวัลใหญ่
เพราะมีคนทักว่าลายมือดี เส้นเยอะ
ผมต้องซื้อฉลากกินแบ่งให้ทุกงวดเลย แก้ปัญหาง่าย ๆ ครับ
ถ้าถามถึง ก็จะควักให้ดู แล้วก็จบคำถามไปได้

2. อาการหูแว่วหรือประสาทหลอน
พบบ้าง
ตอนนี้ผูกด้ายขาวที่พระท่านเมตตาให้ไว้ พกติดตัวตลอด
เพราะท่านเชื่อว่ากันผี
นาน ๆ ก็จะเล่าให้ผมฟังสักครั้ง
ไม่ถือว่าบ่อย แต่มีเรื่องนี้ในใจแน่นอน

3. ภาวะซึมเศร้า
ไม่พบนะ
เพราะผมชวนพูดคุย ทำกิจกรรมตลอด

4. อาการวิตกกังวล 
พบบ่อย เรื่องเสื้อผ้าไม่สวย ข้าวของ ญาติพี่น้อง พ่อแม่ ลูกหลาน
เห็นภาพยังระแวงเลย จะให้ปลดภาพ ย้ายภาพ บ่อยเลย

5. อาการเฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว 
ไม่พบนะ
เพราะผมชวนพูดคุย ทำกิจกรรมตลอด

6. พฤติกรรมไม่สามารถยับยั้งชั่งใจ
มีบ้าง แต่ไม่เยอะ
เช่น อยากไปพบช่างตัดผ้า ติดตามว่าที่ตัดไว้ได้รึยัง
เรื่องนี้จำแม่น และอยู่ในใจเสมอ
เพราะเสื้ออื่น ท่านว่ายืมเค้ามา อยากได้เสื้อผ้าใหม่

7. อารมณ์หงุดหงิด โกรธ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย
มีบ้าง แต่ไม่เยอะ

8. พฤติกรรมทำอะไรแปลก ๆ 
มีบ้าง แต่ไม่เยอะ

9. ปัญหาด้านการนอน 
ได้ยานอนหลับตลอด น้อยไป หมอก็เพิ่มให้
เพราะตอนไม่ได้ยา จะมีปัญหาเยอะมาก

10. ปัญหาด้านการกิน 
ท่านเป็นพาร์กินสัน ดื่มน้ำยากมาก ๆ
อาหารก็พอทานได้ ชอบของอร่อย โดยเฉพาะของหวาน
เลือกมาก ติมาก ต้องเลือกให้ท่าน ตามใจ
แล้วแต่ละมื้อก็จะผ่านไปด้วยดี

[ชวนคุยเรื่องแยกธาตุแยกขันธ์]
ก็พูดเรื่องธรรมะให้คุณแม่ฟังบ่อย
คุยเรื่องปล่อยวาง
หายใจเข้า หายใจออก กำหนดจิตรู้
แต่ดูท่านจะไม่ค่อยสนใจ
ตอนปกติท่านก็ไม่สนใจอยู่แล้ว
แต่ผมพูดบ่อย ๆ เรื่องจิต (conscious)
เพราะต้องการย้ำให้จิตตนเองรับรู้ด้วย
ดูแลท่าน ต้องดูแลจิตของตนเองด้วย
เพราะจิตของผมก็ไม่ค่อยจะแข็งแรงมากมายนัก
เรื่องกายก็พอไหว้อยู่
แต่วัยเกือบ 50 ก็เสียวเหมือนกัน
คุณพ่อจากไปด้วยมะเร็งลำไส้ ตอน 50 ต้น ๆ
คุณยายจากไปด้วยมะเร็งตับ ตอน 60 ต้น ๆ
ก็ต้องยอมรับว่ากังวลครับ

Sunday, January 29, 2017

ควันหลงหลังตรุษจีน (๑๘.)


[หนึ่งวันหลังตรุษจีน]
วันตรุษจีน เป็นวันพญาวัน ที่ทุกคนมารวมตัวกัน
ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งกิน ทั้งเที่ยว
ชื่นมื่น
หลังจากนั้น 1 วัน เหมือนเทศกาลอื่น
ญาติพี่น้อง ที่เคยมารวมตัวกันก็แยกย้ายกัน
ไปประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตกันตามปกติ
ตามวิถีของตน
ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ

[ของไหว้บรรพบุรุษ]
หลังไหว้บรรพบุรุษ ของที่เซ่นไหว้
หรือเหลือก็จะแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง
คนละถุงสองถุง
ผมได้มา เก็บไว้ทานหลายมื้อสบายเลย
มื้อนี้จัดเต็มให้คุณแม่
มีไก่ต้ม ต้มจืดหน่อไม้ ก๋วยเน็กเป็นตัวชูโรง
เครื่องเคียงก็มีแตงกวา มะละกอฮอลแลนด์
กับแป๊ะก๋วยไม่มีน้ำตาล หนืด ๆ ครับ ไม่รู้ใส่อะไร
จัดเต็มให้คุณแม่อีก 1 มื้อ
ก๋วยเน็กอร่อยถูกปาก ทานหมด
แตงกวา วันนี้คุณแม่ทานหมดทั้ง 3 แว่นเลย

[ทานข้าวไม่ลง]
กับข้าวที่ทำให้ท่านทานข้าวสวยได้
เห็นจะมีแกงแค แกงเผ็ดเน้นมะเขือ
แกงผักเสี้ยง แกงผักกาด คือ แกงผักออกเมืองหน่อย
ถ้าเป็นอย่างอื่น ท่านจะกลืนข้าวสวยไม่ลง
วันนี้มีกับข้าวหลายอย่าง เวลาตักข้าว
ท่านก็ต้องคายออก พาร์กินสัน ทำให้กลืนไม่ลง
น่าจะเป็นที่จิตใจด้วย คงเชื่อว่าเป็นของแสลง
คุณน้าอีกท่าน ที่ผมมักพาคุณแม่ไปเที่ยวหา
ก็บ่นเรื่องกับข้าว
เพราะเฟ้นหาของอร่อยให้ทาน ก็ทานได้ 3 คำ
คุณแม่แอบบ่นว่า คุณน้าป้อนเร็วไป เคี้ยวไม่ทัน
แต่ท่านไม่กล้าบอกคุณน้าเอง
สงสัยต้องไปบอกคุณน้าซะหน่อยแล้ว


Saturday, January 28, 2017

ใช้หลักธรรม "หมื่นรู้มิสู้ปล่อยวาง" ดึงผมขึ้นมา (๑๗.)



[นึกถึงเรื่องที่เล่าไป]
ย้อนกลับไปดูเรื่องที่เคยเล่าไป
รู้สึกว่าอยู่ในหลุมความทรงจำในอดีต
หลุมที่ฉุดไม่ให้ผมปล่อยวางความรู้สึกในอดีต
คุณแม่ท่านปล่อยวางไม่ได้
เพราะลืมแล้ว นั่นเป็นธรรมชาติที่แก้ทางยา
แต่ผู้ดูแลคุณแม่ ต้องปล่อยวางให้ได้ แก้ทางใจ
เพื่อจะได้ก้าวต่อไป
ก้าวไปในฐานะผู้ดูแลคุณแม่
ไม่งั้นก็เหมือนติดหล่มลึกที่ตนเองวางไว้
นั่งทบทวนก็เห็นได้ว่าตนเองยึดติดกับตัวตนเก่า
แน่นอนว่า เป็นทุกข์
เพราะปล่อยวางตัวตนเดิมไม่ได้ ยังเป็นคนมีอดีต

[คิดได้ในวันตรุษจีน]
ในวันตรุษจีน เป็นวันไหว้บรรพบุรุษ
ทำให้นึกย้อนไปถึงผู้คนมากมาย
ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และผู้อยู่ในสังคมผู้สูงอายุ
มีเรื่องราวให้เรียนรู้มากมาย
แต่ทุกความรู้มิสู้ปล่อยวาง สอดคล้องหลักธรรมทางพุทธ
คุณอาที่ท่านสนใจเรื่องสติ ก็เล่าว่าต้องเจริญสติ
คุณอาอีกคนบอกว่าต้องปล่อยวาง
แล้วนึกไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่เคยทำงานด้วยมากมาย

[นั่งมองตัวเอง]
พอทบทวนปัญหาของตนเอง
กับเรื่องราว เรื่องเล่าในอดีต
เอาเรื่องที่รู้มากมายมาเทียบกัน
อาทิ ไล่ตงจิ้น เข็มทิศชีวิต หรือ ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ
ผมว่าตนเองกำลังอยู่ในหลุม และยังไม่ตากายขึ้นมา
เสมือนถูกพันธนาการด้วยความรู้สึกว่ามีตัวตนในอดีต
รู้สึกยังยึดติด ยึดมั่น และไม่ปล่อยอดีตไป
หากจะหลุดจากหลุมที่ว่าก็ต้องปล่อยวาง
การปล่อยวางเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผม
หลุดจากตัวตนในอดีต
เริ่มต้นจากเจริญสติครับ คืนนี้
และหวังใจว่าจะ "ปล่อยวาง" ได้ในเร็ววัน

Monday, January 02, 2017

แม่ล้ม ผมก็ล้ม

กลับเข้า blogger.com เมื่อ 2 มกราคม 2560
พบ notification



แล้วก็ทำการเปลี่ยน 2 เรื่อง
หัวข้อบล็อก
การจัดการความรู้ (KM)
-> แม่ล้ม ผมก็ล้ม
คำอธิบายบล็อก
IDENTIFICATION, ACQUISITION, DEVELOPMENT, TRANSFER, UTILIZATION
-> เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่ผันตัวเองเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนปี 2560 อย่างไม่ทันตั้งตัว
http://article-thaiall.blogspot.com/

Think different